ตำนานดอยเต่า

ตำนานดอยเต่า

ตำนานดอยเต่า เรื่องราวความเป็นมาของชื่อเรียกขาน
“ดอยเต่า”
ในสมัยพุทธกาล สมเด็จพระพุทธเจ้าได้เสด็จจาริกเทศนาสั่งสอนและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
ไปตามชมภูทวีป เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงท้องที่อำเภอดอยเต่าในปัจจุบัน
ทรงหยุดพักประทับแรมสั่งสอนประชาชน ณ สถานที่อันเป็นเนินเล็กๆ ภายใต้ร่มไม้ใหญ่ซึ่งมีอากาศเย็นสบาย
ไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนัก ครั้นชาวบ้านทราบข่าวการเสด็จมาของพระพุทธเจ้า
ต่างก็มีความปีติยินดีเป็นล้นพ้น พากันเตรียมปัจจัยไทยทานมาถวาย

เมื่อพระพุทธองค์ทรงรับบิณฑบาตรปัจจัยไทยทานแล้ว สังเกตเห็นว่าสิ่งของที่ประชาชนนำมาถวายนั้น
มี “บ่าเต้า” (แตงโม) มากกว่าสิ่งของอย่างอื่น จึงทรงมีพุทธทำนายกับประชาชนว่า “ดูกร ท่านทั้งหลาย
ดินแดนแห่งนี้อุดมด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ต่อไปภายภาคหน้าจะเจริญรุ่งเรืองเป็นบ้านเป็นเมือง
และขอตั้งชื่อสถานที่แห่งนี้ว่า
“ดอนเต้า”
(มาจากคำว่า “ดอน”-เนินเล็ก ๆ และ คำว่า “เต้า”-บ่าเต้า (แตงโม)
คำว่า ดอนเต้า ถูกเรียกขานกันมาตั้งแต่บัดนั้น นานเข้าจึงเรียกเพี้ยนเป็น “ดอยเต่า” จนถึงปัจจุบัน
อนึ่ง “ดอยเต่า” เป็นชื่อหมู่บ้านดั้งเดิมแห่งหนึ่งของตำบลดอยเต่า มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น
นอกเหนือจากพุทธทำนายข้างต้น พระพุทธองค์ยังทรงทำนายต่อไปอีกว่าดินแดนแห่งหนึ่งนี้มีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่าน
ทั้ง ๒ ฝั่งแม่น้ำจึงอุดมสมบูรณ์ดี แต่ในภายภาคหน้าจะมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป

ผู้คนที่อยู่ริม ๒ ฝั่งแม่น้ำนี้จะถูกรบกวนเนื่องจากพญานาคตัวใหญ่จะมาขวางกั้นลำน้ำแห่งนี้ไว้
และจะมีสำเภาเงินสำเภาทองวิ่งขึ้นล่องเป็นประจำ
เมื่อนั้นดินแดนแห่งนี้จึงจะเจริญรุ่งเรือง หากวิเคราะห์ตามคำทำนายของพระพุทธองค์
จะเห็นว่าเมื่อมีการสร้างเขื่อนภูมิพลที่อำเภอสามเงา จังหวัดตาก
เพื่อปิดกั้นแม่น้ำปิง ทำให้เกิดเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่บริเวณเหนือเขื่อนขึ้นมากจนถึงอำเภอฮอด
ประชาชนซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิงต้องอพยพหนีน้ำท่วมเข้ามาอยู่ในบริเวณที่ดินจัดสรร
ของนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล เกิดเป็นชุมชนที่หนาแน่นขึ้น บริเวณอ่างเก็บน้ำก็อุดมไปด้วยปลานานาชนิด
ประชาชนบางกลุ่มก็ได้ยึดอาชีพจับปลาขาย อนึ่ง การสัญจรไปมาติดต่อกันโดยทางเรือในท้องที่อำเภอดอยเต่า
ทำให้อำเภอแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง และมีความเจริญขึ้นเรื่อย ๆ
สมดังคำทำนายที่พระพุทธองค์ทรงทำนายไว้

(เรียบเรียงจาก บรรยายสรุปข้อราชการอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ.๒๕๓๙)

 

 

 

 

ใส่ความเห็น

Filed under ตำนานล้านนา

ใส่ความเห็น